หลักฐานทางประวัติศาสตร์ หมายถึง ร่องรอยการกระทำ การพูด การเขียน การประดิษฐ์ การอยู่อาศัยของมนุษย์ หรือลึกไปกว่าที่ปรากฏอยู่ภายนอก คือ ความคิดอ่าน โลกทัศน์ ความรู้สึก ประเพณีปฏิบัติของมนุษย์ในอดีต ความรู้สึกของคนในปัจจุบัน สิ่งที่มนุษย์จับต้องและทิ้งร่องรอยไว้ กล่าวได้ว่าอะไรก็ตามที่มาเกี่ยวพันกับมนุษย์ หรือมนุษย์เข้าไปเกี่ยวพันสามารถใช้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ได้ทั้งสิ้น

การแบ่งประเภทของหลักฐานทางประวัติศาสตร์
๑) แบ่งตามยุคสมัย
(๑) หลักฐานสมัยก่อนประวัติศาสตร์ คือ หลักฐานที่เกิดขึ้นในสมัยที่ยังไม่มีการบันทึกเป็นอักษร แต่เป็นพวกซากโครงกระดูกมนุษย์ ซากสิ่งมีชีวิตต่างๆ เครื่องมือ เครื่องใช้ เครื่องประดับ ร่องรอยการตั้งถิ่นฐานของชุมชน ตลอดจนความพยายามที่จะถ่ายทอดประสบการณ์ของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ ในลักษณะของการบอกเล่าต่อๆกันมา เป็นนิทานหรือตำนานซึ่งเราเรียกว่า “มุขปาฐะ”
(๒) หลักฐานสมัยประวัติศาสตร์ คือ หลักฐานสมัยที่มนุษย์สามารถประดิษฐ์ตัวอักษร และบันทึกในวัสดุต่างๆ มีร่องรอยที่แน่นอนเกี่ยวกับสังคมเมือง มีการรู้จักใช้เหล็ก และโลหะอื่นๆ มาเป็นเครื่องมือใช้สอยที่ปราณีต มีร่องรอยศาสนสถานและประติมากรรมรูปเคารพในศาสนาอย่างชัดเจน

๒) แบ่งตามลักษณะหรือวิธีการบันทึก
(๑) หลักฐานประเภทลายลักษณ์อักษร ได้แก่ จารึก ตำนาน พงศาวดาร จดหมายเหตุ บันทึกความทรงจำ เอกสารทางวิชาการ ชีวประวัติ จดหมายส่วนตัว หนังสือพิมพ์ นิตยสาร วารสาร กฎหมาย วรรณกรรม ตำรา วิทยานิพนธ์ งานวิจัย ในการศึกษาประวัติศาสตร์ในประเทศไทย มีการเน้นการฝึกฝนทักษะการใช้หลักฐานประเภทลายลักษณ์อักษร เป็นส่วนใหญ่ จนอาจกล่าวได้ว่าหลักฐานประเภทนี้เป็นแก่นของงานทางประวัติศาสตร์ไทย
(๒) หลักฐานไม่เป็นลายลักษณ์อักษร ได้แก่ หลักฐานโบราณคดี เช่น โบราณสถาน โบราณวัตถุ เงินตรา หลักฐานจากการบอกเล่า ที่เรียกว่า “มุขปาฐะ” หลักฐานด้านภาษา เกี่ยวกับพัฒนาการของภาษาพูด หลักฐานทางศิลปกรรม ได้แก่ จิตรกรรม ประติมากรรม สถาปัตยกรรม นาฏศิลป์ ดุริยางคศิลป์ หลักฐานประเภทโสตทัศน์ ได้แก่ ภาพถ่าย ภาพสไสด์ แผนที่ โปสเตอร์ แถบบันทึกเสียง แผ่นเสียง ภาพยนตร์ ดวงตราไปรษณียากร

๓) แบ่งตามลำดับความสำคัญ
(๑) หลักฐานชั้นต้นหรือหลักฐานปฐมภูมิ (Primary sources) หมายถึง หลักฐานที่บันทึก สร้าง หรือจัดทำขึ้น โดยผู้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นั้นโดยตรง หรือบ่งบอกให้รู้ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสมัยนั้นจริงๆ ทั้งที่เป็นลายลักษณ์อักษร เช่น สนธิสัญญา บันทึกคำให้การ จดหมายเหตุ กฎหมาย ประกาศของทางราชการ ศิลาจารึก จดหมายโต้ตอบ และที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร เช่น ภาพเขียนสีผนังถ้ำ เครื่องมือเคื่องใช้ เครื่องประดับ เจดีย์
(๒) หลักฐานชั้นรองหรือหลักฐานทุติยภูมิ (Secondary sources) หมายถึง หลักฐานที่เกิดจากการนำหลักฐานชั้นต้นมาวิเคราะห์ ตีความเมื่อเวลาผ่านพ้นไปแล้ว ได้แก่ ตำนาน พงศาวดาร
นักประวัติศาสตร์บางท่านยังได้แบ่งหลักฐานประวัติศาสตร์ออกไปอีกเป็น หลักฐานชั้นที่สามหรือตติยภูมิ (Tertiary sources) หมายถึง หลักฐานที่เขียนหรือรวบรวมขึ้น จากหลักฐานปฐมภูมิและทุติยภูมิ เพื่อประโยชน์ในการศึกษาอ้างอิง เช่น สารานุกรม หนังสือแบบเรียน และบทความทางประวัติศาสตร์ต่างๆ

๔. วิธีการทางประวัติศาสตร์ (Historical Method)
วิธีการทางประวัติศาสตร์ หมายถึง กระบวนการ (Process) ในการค้นคว้าหาข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ประกอบด้วยขั้นตอนสำคัญ ดังนี้
๑. การกำหนดเป้าหมายในการศึกษา ผู้ศึกษาต้องมีความต้องการที่ชัดเจนว่าจะศึกษาอะไร สมัยใด และเพราะเหตุใด
๒. การค้นหา รวบรวมและคัดเลือกหลักฐาน เป็นขั้นตอนที่ต้องกระทำตั้งแต่แรกเริ่ม และตลอดระยะเวลาที่ค้นคว้าโดยจะต้องรวบรวม คัดเลือก และติดตามหลักฐานที่อาจจะมีการค้นพบใหม่หรือตีความใหม่อยู่เสมอ
๓. การวิเคราะห์และประเมินคุณค่าหลักฐาน เป็นขั้นมุ่งวิเคราะห์และพิสูจน์หลักฐานว่า เป็นของจริงหรือของปลอมซึ่งเรียกว่า การวิเคราะห์และประเมินคุณค่าหลักฐานจากภายนอก และวิเคราะห์ว่ามีความน่าเชื่อถือเพียงใด ซึ่งเรียกว่า การวิเคราะห์และประเมินคุณค่าหลักฐานจากภายใน
๔. การตีความ (Interpretation) เป็นขั้นการตีความ เพื่อพยายามค้นหาความหมาย และความสำคัญแท้จริงที่ปรากฏในหลักฐาน รวมทั้งความสัมพันธ์ของข้อเท็จจริงเพื่อสามารถนำไปใช้ในการอธิบายพฤติกรรมของมนุษย์ หรือสามารถใช้อธิบายข้อสมมติฐานที่ตั้งขึ้น
๕. การสังเคราะห์หรือเรียบเรียงเรื่องราว (Synthesis) เป็นขั้นของการนำข้อมูลที่วิเคราะห์ และตีความแล้ว มาเรียบเรียงเข้าด้วยกันในลักษณะที่สัมพันธ์กันอย่างมีกฎเกณฑ์ และเป็นเหตุเป็นผลน่าเชื่อถือ