สาระการเรียนรู้


๑.ความหมายและความสำคัญของประวัติศาสตร์

๒.วิธีการทางประวัติศาสตร์

๓.หลักฐานทางประวัติศาสตร์


จุดประสงค์การเรียนรู้


๑.อธิบายความหมายและความสำคัญของประวัติศาสตร์ได้

๒.นำวิธีทางประวัติศาสตร์มาใช้ศึกษาเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ได้

๓.อธิบายอธิบายหลักฐานทางประวัติศาสตร์ได้


สมรรถนะประจำหน่วย

ใช้วิธีทางประวัติศาสตร์เพื่อศึกษาเหตุการณ์และหลักฐานทางประวัติศาสตร์

คำแนะนำในการเรียนรู้
1.ลงชื่อเข้าเรียน
2.ทำแบบทดสอบก่อนเรียน
3.เรียนรู้เนื้อหาสาระผ่านคลิปวีดีโอและเนื้อหาในเว็บ
4.ทำใบงานหรือกิจกรรม
5.ทำแบบทดสอบหลังเรียน

หน่วยที่ ๑

รู้จัก 5 วิธีการทางประวัติศาสตร์ ศึกษาอดีต เพื่อเข้าใจปัจจุบัน

    ประวัติศาสตร์ มีความหมายแบบกว้างๆ หมายถึง เหตุการณ์ในเกิดขึ้นในอดีต ซึ่งบางเหตุการณ์อาจไม่มีหลักฐานยืนยันที่ชัดเจน ทำให้นักประวัติศาสตร์ ศึกษาเรื่องราวเหล่านั้นผ่านกระบวนการที่เรียกว่า "วิธีการทางประวัติศาสตร์" โดยใช้ข้อมูลจากเอกสาร วัตถุ สถานที่ ฯลฯ ที่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันเพื่อประกอบการศึกษาวิเคราะห์ 

วิธีการทางประวัติศาสตร์ มีกี่ขั้นตอน อะไรบ้าง?


วิธีการทางประวัติศาสตร์ หมายถึง กระบวนการศึกษา วิเคราะห์ และตีความจากร่องรอยหลักฐานทั้งที่เป็นลายลักษณ์อักษร และไม่ใช่ลายลักษณ์อักษร แล้วนำมาเรียบเรียงอย่างเป็นระบบ โดยใช้หลักเหตุผลอธิบายเหตุการณ์ และความเป็นมาต่างๆ ในอดีต ให้มีความใกล้เคียงความเป็นจริงมากที่สุด 

การศึกษาประวัติศาสตร์ ช่วยให้เราเข้าใจปัจจุบันมากยิ่งขึ้น วิธีการทางประวัติศาสตร์ จึงถูกใช้เป็นแนวทางในการศึกษาวิจัยภูมิหลังในอดีต เพื่อให้ผู้ศึกษาพิจารณาหลักฐานอย่างรอบด้านก่อนสรุปผล อีกทั้งยังเป็นกระบวนการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับชุดข้อมูลด้วย สำหรับวิธีการทางประวัติศาสตร์ 5 ขั้นตอน มีดังนี้

1. การกำหนดหัวข้อ
ถือเป็นขั้นตอนแรกที่ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์จะต้องกำหนดเป้าหมาย และขอบเขตที่ต้องการศึกษาให้ชัดเจน ว่าต้องการศึกษาเรื่องอะไร เพราะเหตุใด อยู่ในความสนใจหรือไม่ แล้วจึงตั้งคำถามต่อสิ่งที่ต้องการศึกษา รวมถึงการประเมินเรื่องเวลา และทุนสำหรับวิจัย 


2. การเก็บรวบรวมข้อมูล
ตั้งสมมติฐานไว้สำหรับหัวข้อที่ต้องการศึกษา แล้วเริ่มค้นคว้าข้อมูล ความแตกต่างของการสืบค้นทางประวัติศาสตร์ ไม่สามารถใช้ชุดแบบสอบถามได้ แต่ต้องลงมือศึกษาหลักฐานต่างๆ ทั้งหลักฐานชั้นต้น และชั้นรอง เพื่อรวบรวมข้อมูลให้รอบด้าน และตรงตามเป้าหมายที่กำหนดไว้

3. ประเมินคุณค่าหลักฐาน
ทางประวัติศาสตร์จะใช้วิธีการประเมินคุณค่าของหลักฐานที่เรียกว่า การวิพากษ์ โดยพิจารณาว่าหลักฐานแต่ละชิ้นน่าเชื่อถือหรือไม่ สามารถนำมาใช้อ้างอิงได้หรือไม่ ตรวจสอบความแท้-เทียม อายุความเก่าแก่ ซึ่งบางครั้งอาจต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญทางโบราณคดี หรือใช้การพิสูจน์หลักฐานด้วยวิทยาศาสตร์

4. การตีความวิเคราะห์ข้อมูล
เมื่อคัดเลือกหลักฐานได้แล้ว ขั้นตอนต่อมาคือการตีความเจตนาที่แท้จริงของหลักฐาน ไม่ว่าจะเป็นภาษาที่ใช้ ขนาด รูปร่าง ลักษณะทางศิลปะ สภาพสังคม ฯลฯ วิเคราะห์ว่าหลักฐานและข้อมูลที่ได้รับแฝงคติความเชื่ออย่างไรบ้าง

5. การเรียบเรียงนำเสนอ
ขั้นตอนสุดท้ายของวิธีทางประวัติศาสตร์ เมื่อสรุปผลการศึกษาวิจัยได้แล้ว แบ่งออกเป็นการนำเสนอระดับพื้นฐาน เชิงบรรยาย งานเขียน และการนำเสนอระดับวิเคราะห์ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ที่ได้รับการฝึกฝนมาอย่างดี

ประวัติศาสตร์ทั้งกระแสหลักและกระแสรอง สามารถถูกปรับเปลี่ยนหรือถูกหักล้างลงได้ หากมีหลักฐานหรือชุดข้อมูลที่ใหม่กว่า น่าเชื่อถือกว่าปรากฏขึ้นมาสนับสนุน 

ทุกเรื่องราวประวัติศาสตร์ย่อมมีความเป็นมา และนัยที่ซ่อนไว้ในแต่ละยุคสมัย ทำให้การเขียนประวัติศาสตร์แต่ละฉบับ ย่อมมีจุดประสงค์ที่แตกต่างกัน ประโยชน์ของวิธีการทางประวัติศาสตร์จึงเป็นการศึกษาวิจัยที่ช่วยให้เราเข้าสู่กระบวนการที่ "เข้าใกล้" ความจริงที่เคยเกิดขึ้นในอดีตมากที่สุดนั่นเอง