สมัยรัตนโกสินทร์
หลังจากปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ในปี พ.ศ. 2325 แล้วสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกทรงใช้พระนามว่า "พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก" และได้ย้ายราชธานีจากกรุงธนบุรีข้ามแม่น้ำเจ้าพระยามายังฝั่งตรงข้าม และตั้งชื่อราชธานีใหม่นี้ว่า "กรุงเทพมหานคร" พร้อมๆ กับการสถาปนาราชวงศ์จักรีขึ้นมา
พระองค์ทรงฟื้นฟูขวัญกำลังใจให้กับประชาชนที่ยังหวาดผวากับศึกพม่าเมื่อครั้งสงคราวเสียกรุงศรีอยุธยา รวมทั้งตลอดสมัยกรุงธนบุรี ด้วยการนำแบบแผนต่างๆของราชสำนักอยุยามาใช้ รวมทั้งอัญเชิญพระพุทธรูปสำคัญมาไว้ที่กรุงเทพฯด้วย วัดพระศรีรัตนศาสดารามหรือวัดพระแก้ว เป็นแบบอย่างชัดเจนที่พระองค์ทรงระดมช่างฝีมือซึ่งหลงเหลืออยู่ในเวลานั้นมาสร้างพระราชวังและพระอารามที่ยิ่งใหญ่แห่งนี้ เสมือนยกเอายุครุ่งเรืองของกรุงศรีอยุธยามาไว้ยังกรุงเทพฯ
ในช่วงก่อร่างสร้างเมืองนี้สยามยังต้องผจญกับศึกสงครามรอบบ้านอยู่เสมอ รวมทั้งสงครามครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์การรบระหว่างสยามกับพม่าด้วย นั่นคือศึกที่เรียกว่า"สงครามเก้าทัพ" ซึ่งตรงกับรัชสมัยของพระเจ้าประดุงแห่งหงสาวดี กองทัพสยามสามารถขับไล่ทัพพม่าออกไปได้ในที่สุด หลังสงครามเก้าทัพพม่าต้องเผชิญหน้ากับประเทศนักล่าอาณานิคมอย่างอังกฤษ ทำให้สยามว่างเว้นศึกสงครามใหญ่ไปนาน
รัชกาลที่ 1 มีพระราชดำริให้ฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมครั้งใหญ่ รวมทั้งการรวบรวมตำรับตำราจากหัวเมืองต่างๆ ที่รอดพ้นจากการถูกพม่าเผาเมื่อ ปี พ.ศ.2310 มาเก็บไว้ที่กรุงเทพฯ ในสมัยของพระองค์ได้มีการนำธรรมเนียมปฏิบัติของราชสำนักอยุธยามาใช้อย่างหนึ่งคือ มีการแต่งตั้งตำแหน่งอุปราชเสมือนเป็นกษัตริย์องค์ที่ 2 อุปราชองค์แรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์คือ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ซึ่งประทับอยู่ที่วังหน้าคนสยามจึงมักเรียกตำแหน่งอุปราชว่า "วังหน้า" สำหรับพระราชวังหน้านั้นปัจจุบันคือบริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ โรงละครแห่งชาติ และวิทยาลัยนาฏศิลป์นั่นเอง รวมทั้งพื้นที่ประมาณครึ่งหนึ่งของท้องสนามหลวงก็เคยเป็นอาณาบริเวณของวังหน้ามาก่อน เวลามีการก่อสร้างต่างๆ บริเวณนี้เมื่อขุดลงไปในดินจึงมักพบ โบราณวัตถุหลายอย่าง โดยเฉพาะปืนใหญ่แบบโบราณ มีการขุดได้บริเวณนี้ หลายกระบอก
รัชกาลที่ 2 ยุคทองของศิลปรัตนโกสินทร์ : พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (พ.ศ. 2352-2367) พระราชโอรสองค์โตได้ครองราชสมบัติสืบมาเป็นรัชกาลที่ 2 พระองค์ทรงใฝ่พระทัยในศิลปวัฒนธรรมมาก ทั้งทางด้านวิจิตรศิลป์และวรรณคดี พระองค์ได้รับการยกย่องว่าเป็นกษัตริย์ผู้เป็นอัครศิลปิน ทรงสร้างและบูรณะวัดวาอารามจำนานมาก ที่สำคัญที่สุดคือโปรดเกล้าฯให้บูรณะวัดสลักใกล้พระราชวังเดิมฝั่งธนบุรี จนยิ่งใหญ่สวยสง่ากลายเป็นวักประจำรัชกาลของพระองค์และพระราชทานนามว่า "วัดอรุณราชวรารามมหาวิหาร" ความเป็นศิลปินเอกของพระองค์เห็นได้จากการที่พระองค์ทรงแกะสลักบานประตู หน้าวัดสุทัศน์ฯ ด้วยพระองค์เอง ผลงานอันวิจิตรชิ้นนี้ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกรุงเทพฯ นอกจากฝีพระหัตถ์เชิงช่างแล้ว รัชกาลที่ 2 ยังทรงพระอัจฉริยภาพในทางกวีด้วย พระราชนิพนธ์ชิ้นสำคัญของพระองค์ คือ บทละครเรื่องอิเหนา และ รามเกียรติ์ นอกจากทรงพระราชนิพนธ์ด้วยพระองค์เองแล้วยังได้ชื่อว่าเป็นองค์อุปถัมภ์บรรดาศิลปินและกวีด้วย ยุคนี้จึงเรียกได้ว่าเป็นยุคสมัยที่กวีรุ่งเรืองที่สุด กวีเอกที่ปรากฏในรัชกาลของพระองค์คือ พระศรีสุนทรโวหาร (ภู่) ที่คนไทยทั่วๆไปเรียกว่า "สุนทรภู่" ในด้านการต่างประเทศ พระองค์ทรงได้เริ่มฟื้นฟูความสัมพันธ์กับประเทศตะวันตกใหม่หลังจากหยุดชะงักไปตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยมีพระบรมราชานุญาตให้โปรตุเกตุเข้ามาตั้งสถานฑูตได้เป็นชาติแรก
รัชกาลที่ 3 ยุคพ่อค้าวาณิช : กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ได้ครองครองราชสมบัติต่อจากพระบิดา ทรงพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2367-2394) ทรงมีความเชี่ยวชาญในการค้าขายกับต่างประเทศมาก โดยเฉพาะกับประเทศจีน ในรัฐสมัยของพระองค์ ราชสำนักสยามและจีนมีสัมพันธภาพที่แน่นแฟ้น สยามแต่งสำเภาเดินทางไปค้าขายกับจีนปีละมากลำ ยุคสมัยของพระองค์นับเป็นยุคทองของการค้าขาย ทรงทำให้เศรษฐกิจของประเทศมั่งคั่งขึ้น เงินทองเต็มท้องพระคลัง และทรงเก็บพระราชทรัพย์บางส่วนไว้ในถุงแดงซุกซ่อนไว้ตามบัลลังก์ ซึ่งในเวลาต่อมาทรัพย์ในถุงแดงนี้มีส่วนในการกู้ชาติสยาม
รัชกาลที่ 3 เป็นกษัตริย์ผู้ทรงเคร่งครัดในศาสนาพุทธ ชาวตะวันตกมักมองว่าพระองค์ ตึงและต่อต้าน ศาสนาอื่น แม้กระนั้นก็ทรงอนุญาตให้มิชชั่นนารีจากอเมริกานำการแพทย์แผนตะวันตกเข้ามาเผยแพร่ได้
การเปิดประเทศในรัชกาลที่ 4 : ความจริงในสมัยรัชกาลที่ 3 ประเทศสยามต้องรับบรรดาทูตต่างๆจากชาติตะวันตกที่เข้ามาทำสัญญาทางการค้าบ้างแล้ว โดยเฉพาะการมาถึงของ เซอร์จอห์น เบาริ่ง จากอังกฤษที่เข้ามาทำสัญญาเบาริ่ง อันส่งผลอย่างใหญ่หลวงต่อประเทศสยามในเวลาต่อมา อย่างไรก็ตามผลจากการเปิดประเทศมาปรากฏอย่างเด่นชัดในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ซึ่งทรงสนพระทัยในศิลปวิทยาการของตะวันตกมาก พระองค์ทรงศึกษาวิชาการต่างๆ อย่างแตกฉานทรงเข้าใจภาษาบาลีเป็นอย่างดีตั้งแต่ครั้งที่ออกผนวชเป็นเวลาถึง 27 พรรษาก่อนทรงขึ้นครองราชย์ ส่วนภาษาอังกฤษนั้นทรงได้เรียนกับมิชชันนารีจนสามารถตรัสได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังมีความรู้ในวิทยาศาสตร์แขนงต่างๆโดยเฉพาะดาราศาสตร์ ในยุคสมัยของพระองค์ขนบธรรมเนียมต่างๆ ในราชสำนักได้เปลี่ยนไปมาก เช่น การแต่งกายเข้าเฝ้าของขุนนาง ทรงให้สวมเสื้อผ้าแบบตะวันตกแทนที่จะเปลือยท่อนบนเช่นสมัยก่อน หรือยกเลิกประเพณีหมอบคลาน เป็นต้น
ส่วนในด้านการศาสนานั้นทรงตั้งนิกายธรรมยุติขึ้นมา ซึ่งเป็นการเริ่มต้นการรวมอำนาจของคณะสงฆ์ซึ่งเคยกระจัดกระจายทั่วประเทศให้เขามาอยู่ที่ส่วนกลาง พระองค์นับว่าทรงเป็นกษัตริย์ผู้มีวิสัยทัศน์ยาวไกล และทรงตระหนักถึงภัยจากลัทธิล่าอาณานิคมของประเทศตะวันตกซึ่งในเวลานั้นเข้ายึดครองประเทศเพื่อนบ้านของสยามจนหมดสิ้นแล้ว พระองค์ทรงมีพระราชดำริว่า ความเข้มแข็งแบบ ตะวันออกของสยามไม่สามารถช่วยให้ประเทศรอดพ้นจากการตกเป็นอาณานิคมได้ จึงทรงเน้นให้ประเทศสยามพัฒนาให้ทันสมัยเพื่อลดความขัดแย้งกับชาติตะวันตก
ยุคสมัยนี้กล่าวได้ว่าประเทศสยามเริ่มหันทิศทางไปสู่ตะวันตกแทนที่จะแข็งขืนอย่างประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งถึงที่สุดแล้วก็ไม่อาจสู้ความได้เปรียบทางเทคโนโลยีของชาติตะวันตกได้ ในราชสำนักทรง จ้างครูฝรั่งมาสอนภาษาให้แก่พระราชโอรสและพระราชธิดา ส่วนภายนอกมีชาวต่างประเทศจำนวนมากที่มาประกอบกิจการในมืองสยาม สมัยนี้มีหนังสือพิมพ์ภาษาไทยออกมาเป็นครั้งแรก นั่นคือ บางกอกรีคอดเดอร์ของหมอบัดเลย์
การทำสนธิสัญญาทางการค้ากับประเทศตะวันตกทำให้สยามต้องสูญเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขต อังกฤษเป็นชาติแรกๆที่ได้ประโยชน์ สยามสามารถเก็บภาษีจากสินค้าของพ่อค้าอังกฤษได้เพียงร้อยละ 3 และอังกฤษสามารถนำเข้าฝิ่นจากอินเดียได้โดยเสรี รวมทั้งสัญญาระบุให้สยามยกเลิกการผูกขาดการค้าข้าวโดยราชสำนัก ทำให้ข้าวกลายเป็นสินค้าออกที่สำคัญของสยามมานับศตวรรษ ต่อมาสยามก็ต้องทำสัญญาเช่นนี้กับชาติตะวันตกอื่นๆ อีก ความสนใจในวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะด้านดาราศาสตร์เป็นเหตุให้พระองค์ต้องสวรรคตในปี พ.ศ. 2411 ทรงคำนวณได้ว่าจะเกิด สุริยุปราคาเต็มดวงที่หว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จึงเสด็จฯ ไปดู พร้อมกับเชิญคณะทูตานุทูตตามเสด็จไปชมด้วย แม้จะเป็นเรื่องที่ทำให้พระองค์ได้รับการยกย่องจากชาวตะวันตกมาก เพราะในเวลานั้น แม้แต่นักวิทยาศาสตร์ชาติตะวันตกก็มีเพียงไม่กี่คนที่สามารถคำนวณ การกิดสุรุยุปราคาได้อย่างแม่นยำ แต่การเสด็จฯ ไปหว้ากอครั้งนั้นเป็นเหตุให้พระองค์ประชวรด้วยไข้มาลาเรีย และเสด็จสวรรคตในอีก สองสัปดาห์ต่อมา
การปฏิรูปในสมัยรัชกลที่ 5 : เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ พระราชโอรสของรัชกาลที่ 4 ขึ้นครองราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวด้วยพระชนมายุเพียง 15 ชันษา พระองค์ทรงขึ้นครองราชย์ในยุคสมัยที่บ้านเมืองจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง และทรงต้องเผชิญกับการกดดันจากหลายด้านทั้งฐานอำนาจของกลุ่มวังหน้าและฝ่ายขุนนางที่นำโดยสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในขณะที่แรงกดดันจากประเทศนักล่าอาณานิคมก็มิได้ลดละ แต่โชคดีที่พระองค์รวมทั้งพระประยูรญาติได้รับการปูพื้นฐานมาเป็นอย่างดี ในสมัยของพระองค์บรรดาขุนนางต่างพระเนตรพระกรรณที่ พระองค์มีพระบรมราชโองการอยู่เสมอก็คือพระอนุชาของพระองค์ เป็นส่วนใหญ่ ขุนนางซึ่งมีบทบาทอย่างมากในสมัยนี้ก็คือ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กรมพระยาเทววงศ์วโรปกรณ์ กรมหลวงประจักษ์ศิลปคม เป็นต้น ซึ่งล้วนเป็นพระอนุชาของพระองค์ทั้งสิ้น ในยุคสมัยนี้มีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในประเทศสยาม พระองค์ถือเป็นกษัตริย์ที่ทรงปฏิรูปสังคมครั้งใหญ่ ทรงยกเลิกระบบทาสและการเกณฑ์แรงงานไพร่ หันมาใช้ระบบเก็บส่วนภาษีแทน ทรงปฏิรูประบบการปกครองส่วนภูมิภาคด้วยการยกเลิกระบบประเทศราช และเจ้าครองนครเปลี่ยนผู้บริหารเป็นสมุหเทศาภิบาลซึ่งเป็นข้าราชการที่ส่งไปจากส่วนกลาง การเปลี่ยนแปลงนี้ส่งผลให้ประเทศสยาม เป็นปึกแผ่นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนนับแต่สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ การเตรียมพร้อมของพระองค์ต่อการคุกคามโดยประเทศตะวันตกนั้น ทรงส่งพระราชโอรสไปศึกษา ณ ดินแดนยุโรป โดยเฉพาะในประเทศรัสเซียและปรัสเซีย ทั้งเพื่อเตรียมคนไว้เพื่ออนาคตและเป็นการผูกสัมพันธ์กับราชสำนักยุโรปเพื่อถ่วงดุลอำนาจของอังกฤษและฝรั่งเศสที่ในเวลานั้นกำลังล่าอาณานิคมในภูมิภาคเอเซียอยู่
ในปี พ.ศ. 2435 ทรงตั้งกระทรวงเพิ่มขึ้นจาก 4 เป็น 12 กระทรวง บางกระทรวงก็ทรงแต่งตั้งพระอนุชาเป็นเสนาบดี บางกระทรวงที่ต้องติดต่อสัมพันธ์กับต่างประเทศก็ทรงจ้างผู้เชี่ยวชาญชาวตะวันตกเป็นเสนาบดี รัชสมัยของพระองค์มีชาวตะวันตกเข้ามารับใช้ ประเทศสยามจำนวนมาก หลายท่านยังคงมีลูกหลานสืบสกุลในเมืองไทยจนปัจจุบัน ครั้นพระราชโอรสของพระองค์สำเร็จการศึกษาจากยุโรปแล้วก็ได้เข้ามาเป็นกำลังในการปรับปรุงโครงสร้างการบริหารครั้งใหญ่ โดยเฉพาะเป็นกำลังในการสร้างกองทัพบกและกองทัพเรือให้มี ความทันสมัยอย่างตะวันตก ในสมัยนี้ประเทศสยามต้องเผชิญกับการบีบคั้นโดยชาติมหาอำนาจอย่างอังกฤษและฝรั่งเศส ทำให้สยามจำต้องเสียดินแดนให้แก่มหาอำนาจทั้งสองไปเป็นจำนวนมากเพื่อแลกกกับเอกราชของประเทศ
เมื่อฝรั่งเศสเข้าครอบครองเวียดนามในปี พ.ศ. 2426 และอังกฤษยึดครองมลายูและพม่าส่วนบนได้ในปี พ.ศ. 2429 ทำให้สยามตกอยู่ในสถานการณ์ลำบาก ต่อมาฝรั่งเศสส่งเรือรบมาปิดล้อมอ่าวไทย ทำให้ต้องยอมเสียลาวและกัมพูชาให้ฝรั่งเศสไป ขณะเดียวกันก็ต้องเสียดินแดนทางภาคใต้ได้แก่ ปะลิส กลันตัน ตรังกานู ไทรบุรี ดินแดนติดพม่าได้แก่ มะริด ทวาย ตะนาวศรี และดินแดนหัวเมืองเงี้ยว ในภาคเหนือให้แก่ประเทศอังกฤษ รวมแล้วสยามต้องเสียดินแดนให้ มหาอำนาจทั้งสองถึง 120,000 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณครึ่งหนึ่งของประเทศไทยในปัจจุบัน
นอกจากต้องเสียดินแดนแล้วยังต้องจ่ายค่าปรับให้กับประเทศเหล่านั้นด้วย จึงต้องใช้เงินในถุงแดง ซึ่งรัชกาลที่ 3 เก็บซุกซ่อนไว้นำมาจ่ายให้มหาอำนาจเหล่านั้น รัชกาลที่ 5 เคยเสด็จประพาสยุโรปถึงสองครั้งในปี พ.ศ. 2440 และ พ.ศ. 2450 เพื่อเป็นการผูกสัมพันธไมตรีกับราชสำนักต่างๆในยุโรปให้แน่นแฟ้นขึ้น ในรัชสมัยของพระองค์กล่าวได้ว่าสยามประเทศมีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด แม้จะต้องเสียเงินทองมากมายให้แก่มหาอำนาจ แต่เศรษฐกิจของสยามก็เฟื่องฟูโดยเฉพาะหากเทียบกับประเทศเอเซีย อื่นๆ หลังจากพระองค์เสด็จสวรรคต ปวงชนชาวไทยจึงพร้อมใจกันถวายพระสมัญญานามแด่พระองค์ว่า พระปิยมหาราช ซึ่งหมายถึง กษัตริย์ทรงเป็นที่รักยิ่ง
รัชกาลที่ 6 เผชิญคลื่นลมแห่งการเปลี่ยนแปลง : เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ โอรสของรัชกาลที่ 5 ขึ้นครองราชสมบัติต่อมา ทรงพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2453-2468) พระองค์ทรงจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ดในประเทศอังกฤษ นโยบายปฏิรูปแบบตะวันตกส่งผลต่อสังคมไทยอย่างมหาศาล การเปลี่ยนแปลงอย่างแรกในปี พ.ศ. 2456 คือคนไทยต้องมีนามสกุลใช้ ในอดีตคนไทยใช้เพียงชื่อตัวไม่มีนามสกุล ซึ่งพระองค์มีพระราชดำริว่าไม่ทันสมัยอย่างชาวตะวันตก พระองค์จึงทรงพระราชทานนามสกุลให้แก่ขุนนางและคหบดีกว่าร้อยสกุล รวมถึงการถวาย พระนามต้นแห่งกษัตริย์ในราชวงศ์จักรีว่า รามา ก็เกิดขึ้นในสมัยนี้ พระองค์ยังทรงยกเลิกธรรมเนียมให้ผู้หญิงไทยไว้ผมสั้นทรง ดอกกระทุ่มอย่างโบราณ และหันมาไว้ผมยาวแบบฝรั่ง และให้นุ่งผ้าถุงแทนโจงกระเบน ทรงจัดให้มีการศึกษาภาคบังคับทั่วประเทศ มีการตั้งจุฬาลงกรณ์ขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของไทย สงครามโลกครั้งที่ 1 เกิดขึ้นในรัชสมัยของพระองค์ ในช่วงท้ายของสงครามพระองค์ได้ส่งทหารไทยไปร่วมรบ ณ สมรภูมิยุโรป ด้วยนั่นทำให้ประเทศสยามได้รับการต้อนรับให้เข้าร่วมสันนิบาติชาติ ภายหลังสงครามและภายหลังจากทหารอาสาชาวไทยกลับจาก สงคราม พระองค์ทรงเปลี่ยนธงชาติจากธงช้างเผือกบนพื้นแดงมาเป็นธงไตรรงค์แบบปัจจุบันแทน
ในรัชสมัยนี้มีการแต่งตั้งเจ้านายในราชวงศ์และขุนนางใกล้ชิด ให้เป็นคณะรัฐมนตรีร่วมปรึกษาใกล้ชิดกับพระองค์ในการบริหารประเทศ และมีการตั้ง กองเสือป่า ขึ้นมาโดยมีพระองค์เองเป็นผู้ บัญชาการ กองเสือป่าที่ตั้งขึ้นมีลักษณะซ้ำซ้อนกับกองทัพ และหลายครั้งเสือป่าของพระองค์มีเรื่องมีราวกับทหารในกองทัพ ปมขัดแย้งเริ่มเกิดขึ้นในหมู่ทหารจำนวนหนึ่ง กระทั่งประทุเป็นการก่อกบฏใน ร.ศ. 130 ที่เรียกว่า กบฏนายสิบ
รัชกาลที่ 6 ทรงโปรดการละครมาก ในราชสำนักสมัยนั้นมีการเล่นละครกันอยู่เป็นประจำ และไม่ว่าจะเสด็จแปรพระราชฐานไปที่ใด ก็มักจะนำคณะละครของพระองค์โดยเสด็จไปด้วยเสมอ อย่างไรก็ตามพระองค์ทรงได้ชื่อว่าเป็นกษัตริย์ที่โปรดการสร้างถาวรวัตถุ ได้ทรงสร้างพระตำหนักและพระราชวังไว้ตามจังหวัด ต่างๆเป็นจำนวนมาก อาทิ พระตำหนักดุสิตธานีที่กรุงเทพฯ พระราชวังสนามจันทร์ ที่นครปฐม พระราชวังบ้านปืน และพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ที่เพชรบุรี เป็นต้น ผลจากการสร้างสิ่งเหล่านี้ทำให้เงินใน ท้องพระคลังที่สะสมมาสมัยรัชกาลที่ 5 ร่อยหรอลงจนเกิดปัญหาการ ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในช่วงปลายรัชกาล
รัชกาลที่ 6 ทรงอภิเษกสมรสเมื่อพระชนม์มายุมากแล้ว พระราชธิดาพระองค์เดียวประสูติก่อนวันเสด็จสวรรคตของพระองค์เพียงแค่วันเดียวในปี พ.ศ. 2468 พระอนุชาของพระองค์คือ พระเจ้าประชาธิปก ทรงขึ้นคอรงราชย์ต่อ
การเปลี่ยนแปลงในรัชกาลที่ 7 : หลังจากเสด็จขึ้นครองราชย์ ทรงพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว แม้ว่าจะทรงสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนอีตันของอังกฤษ แต่ดูเหมือนรัชกาลที่ 7 จะโปรดการทหารมากกว่า พระองค์ทรงเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจและการบริหารอย่างมีประสิทธิภาพ รัชกาลที่ 7 ทรงมีความห่วงใยพสกนิกรอย่างมาก ในรัชสมัยของพระองค์สยามได้นำระบบไปรษณีย์และ โทรเลขมาใช้ เริ่มมีการสร้างสนามบินขึ้นที่ทุ่งดอนเมือง น่าเสียดายที่ช่วงเวลานั้นไม่เปิดโอกาสให้พระองค์ได้ทรงทำตามแนวคิดในการบริหารประเทศของพระองค์ เพราะทรงครองราชย์ ในสมัยที่เศรษฐกิจทั่วโลกกำลังตกต่ำภายหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 1 ข้าวซึ่งเป็นรายได้หลักของประเทศราคาตกต่ำอย่างมาก ภาวะเงินเฟ้อที่ระบาดไปทั่วโลกส่งผลกระทบต่อรัฐบาลของพระองค์อย่างหลีก เลี่ยงไม่ได้ประกอบกับการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเนื่องจากการใช้จ่าย อย่างฟุ่มเฟือยในรัชกาลก่อนหน้า แม้จะมีการปรับลดค่าเงินบาทลง และนำเงินบาทใปผูกอัตราแลกเปลี่ยนกับเงินปอนด์ของอังกฤษ แต่ก็ ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ วิกฤติการณ์เหล่านี้ส่งผลให้พระองค์ทรงเลือกที่จะตัดงบประมาณของราชสำนักลง ลดเงินเดือนข้าราชการ และมีการดุลข้าราชการจำนวนหนึ่ง เหตุการณ์นี้ส่งผลให้ข้าราชการจำนวนหนึ่งเกิดความไม่พอใจ โดยเฉพาะคนหนุ่มที่เพิ่งสำเร็จการศึกษามาจากประเทศตะวันตกโดยเฉพาะในยุโรป
ในเวลานั้นกระแสการเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบอบอำนาจใหม่ซึ่งเรียกว่า ประชาธิปไตย ได้เริ่มขึ้น โดยเริ่มจากปัญญาชนรุ่นใหม่ซึ่งเป็นสามัญชนที่ได้รับการศึกษามาจากยุโรป โดยเฉพาะจากอังกฤษ และฝรั่งเศส ในขณะที่พวกราชวงศ์มักนิยมไปศึกษาที่รัสเซียซึ่งยังปกครองในระบบสมบูรณาญาสิทธิราช คนหนุ่มเหล่านั้นได้เห็นระบอบการปกครองแบบใหม่ และชื่นชมในสิทธิความเท่าเทียมกันของประชาชน ขณะที่รัชกาลที่ 7 ทรงตระหนักดีว่าประชาธิปไตยควรเริ่มใช้เมื่อประชาชนมีความพร้อมก่อน และพระองค์ทรงเห็นว่าในเวลานั้นคนไทยยังไม่พร้อมสำหรับระบบใหม่ พระองค์เคยมีพระราชปรารภว่าคนไทยควรมีจิตสำนึกทางการเมืองเสียก่อนจึงค่อยนำระบบประชาธิปไตยมาใช้
การรัฐประหาร : ข่าวลือเรื่องการรัฐประหารแพร่สะพัดไปทั่ว ในวันฉลองครบรอบ 150 ปีแห่งราชวงศ์จักรีในปี พ.ศ. 2475 อีกสองเดือนต่อมาในวันที่ 24 มิถุนายน ก็มีการรัฐประหารเกิดขึ้น และเป็นการสิ้นสุดการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช การรัฐประหารเกิดขึ้นโดยกลุ่มบุคคลซึ่งใช้ชื่อว่า คณะราษฎร์ อันประกอบด้วยทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน แกนนำของกลุ่มคณะราษฎร์ล้วนเป็นคนหนุ่มที่สำเร็จการศึกษามาจากยุโรป โดยเฉพาะกลุ่มที่เคยไปศึกษาอยู่ในประเทศฝรั่งเศส แกนนำฝ่ายพลเรือนคือ นายปรีดี พนมยงค์ นักกฎหมายหนุ่มจากฝรั่งเศส ส่วนฝ่ายทหารมี พันเอกหลวงพิบูลสงคราม (แปลก ขีตสังคะ) นายทหารปืนใหญ่จากฝรั่งเศสเช่นกันเป็นผู้นำ คณะผู้ก่อการได้เชิญ พลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) นายทหารปืนใหญ่ผู้สำเร็จการศึกษามาจากปรัสเซียมาเป็นหัวหน้าคณะรัฐประหาร เนื่องจากเป็นนายทหารชั้นผู้ใหญ่ในกองทัพขณะนั้น
เช้าวันที่ 24 มิถุนายน ทหารในฝ่ายคณะราษฎร์ได้นำรถถังและกำลังทหารจำนวนหนึ่งบุกยึดสถานที่สำคัญๆ ในกรุงเทพฯ ไว้ได้หมดรวมทั้งทำการควบคุมตัวเจ้านายราชวงศ์ชั้นสูงเอาไว้เป็นตัวประกันด้วย ขณะนั้นพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 กำลังเสด็จแปรพระราชฐานอยู่ที่พระราชวังไกลกังวล แม้ฝ่ายคณะราษฎร์จะมีกำลังน้อยกว่าฝ่ายรัฐบาลมาก แต่เพื่อหลีกเลี่ยงการนองเลือด รัชกาลที่ 7 ทรงยินดีสละพระราชอำนาจของพระองค์ยอมรับการเป็นกษัตริย์ซึ่งอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตย
0 ความคิดเห็น